สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์ ชั้น ม.2 จะมีเนื้อหาทั้งหมด 6 หน่วยการเรียนรู้ แบ่งเป็นเทอมละ 3 หน่วย
จะมีอะไรบ้างไปดูกันครับ
วิทยาศาสตร์ ม.2 เทอม 1 เรียนอะไรบ้าง
เนื้อหาวิทยาศาสตร์ ม.2 เทอม 1 มีดังนี้
1.สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต
1.1 ระบบต่างๆของร่างกายมนุษย์
1.2 พฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายในและภายนอก
1.3 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการขยายพันธุ์สัตว์
1.4 อาหารกับการดำรงชีวิต
1.5 สารเสพติด ผลกระทบ และแนวทางในการป้องกัน
2.สารและสมบัติของสาร
2.1 ธาตุและสารประกอบ
2.2 ปฏิกิริยาเคมี
3.แรงและการเคลื่อนที่ของวัตถุ
4.แสง
วิทยาศาสตร์ ม.2 เทอม 2 เรียนอะไรบ้าง
เนื้อหาวิทยาศาสตร์ ม.2 เทอม 2 มีดังนี้
5.กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก
5.1 ดิน
5.2 หิน
5.3 แร่และเชื้อเพลิง
5.4 น้ำ
5.5 โลก
6.ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
6.1 กระบวนการทางวิทยาศาสตร์
6.2 โครงงานวิทยาศาสตร์
ต่อไปเรามาดูเนื้อหาคร่าวๆ กันนะครับว่าแต่ละหน่วย แต่ละบทเรียน จะได้เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง
วิทยาศาสตร์ ม. 2 เทอม 1
1. สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต
1.1 ระบบต่างๆของร่างกายมนุษย์
เรียนเกี่ยวกับระบบการทำงานต่างๆของร่างกายมนุษย์ แยกเป็นการทำงานของระบบย่อยอาหาร ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินหายใจ ระบบขับถ่าย ระบบสืบพันธุ์ และระบบประสาท รวมไปถึงการศึกษาเรียนรู้ว่าระบบต่างๆของมนุษย์นอกจากจะมีหน้าที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีความสัมพันธ์ระหว่างกันหรือทำงานร่วมกันได้อย่างไร
1.2 พฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายในและภายนอก
สิ่งเร้า คือ สิ่งที่มีผลและมีอิทธิผลเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการโต้ตอบ แสดงพฤติกรรมต่างๆออกมา เพื่อเป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้นๆ สิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ต้องมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้า เพื่อปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและเพื่อเป็นการดำรงเผ่าพันธุ์ให้อยู่รอดต่อไป สิ่งเร้ามี 2 แบบ คือสิ่งเร้าภายใน คือสิ่งที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย และสิ่งเร้าภายนอก คือ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายนอกและส่งผลกระทบต่อร่างกาย มีการตอบสนองผ่านการแสดงพฤติกรรม
1.3 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการขยายพันธุ์สัตว์
สัตว์ทุกชนิดนอกจากจะมีการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติแล้ว มนุษย์ยังมีส่วนในการควบคุม หรือเพิ่มจำนวนการขยายพันธุ์ของสัตว์ เพื่อประโยชน์ต่างๆ เช่น ด้านการเกษตร การปศุสตว์ เป็นต้น โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วย
1.4 อาหารกับการดำรงชีวิต
อาหาร เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกชีวิตต้องการ มนุษย์ต้องให้ความสำคัญกับอาหาร ตั้งแต่ระบบการผลิต
การควบคุมคุณภาพ เพื่อให้ได้อาหารที่ดี มีประโยชน์ และมีโภชนาการครบถ้วนเพียงพอ
1.5 สารเสพติด ผลกระทบ และแนวทางในการป้องกัน
ขึ้นชื่อว่าสารเสพติด ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ดี หากร่างกายได้รับก็จะมีผลกระทบทางลบต่างๆตามมามากมาย รวมไปถึงปัญหาทางสังคมต่างๆด้วย เราจึงควรหลีกเลี่ยงและเรียนรู้แนวทางในการป้องกันปัญหาสารเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
2. สารและสมบัติของสาร
2.1 ธาตุและสารประกอบ
จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ ธาตุ สารบริสุทธิ์ที่ไม่สามารถแยกหรือสลายออกเป็นสารอื่นได้ มีอนุภาคที่เล็กที่สุดเรียกว่า อะตอม ซึ่งอะตอมจะประกอบไปด้วยอิเล็กตรอนวิ่งวนรอบนิวเคลียส แยกเป็นโปรตอน และ นิวตรอน ในหน่วยนี้จะมีการศึกษาตารางธาตุ และปฏิบัติการทดลองเพื่อเรียนรู้ธาตุและสารประกอบต่างๆด้วย
2.2 ปฏิกิริยาเคมี
หน่วยนี้จะเรียนรู้เกี่ยวกับปฏิกิริยาเคมี ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดจากการที่สารเคมีเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วส่งผลให้เกิดสารใหม่ขึ้นมาซึ่งมีคุณสมบัติเปลี่ยนไปจากเดิม โดยมีสารเริ่มต้นปฏิกิริยาเรียกว่า ตัวทำปฏิกิริยา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคุณสมบัติทางเคมี และก่อตัวขึ้นมาเป็นสารใหม่ นอกจากนี้จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ ปัจจัยที่มีผลต่อปฏิกิริยาเคมี สมการเคมี ปฏิกิริยาเคมีในชีวิตประจำวัน ผลกระทบที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีต่อสิ่งแวดล้อม และสารเคมีที่พบเจอในชีวิตประจำวัน
3.แรง และ การเคลื่อนที่ของวัตถุ
หน่วยนี้จะได้เรียนเกี่ยวกับ แรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้วัตถุเปลี่ยนรูปร่าง เปลี่ยนทิศทาง เกิดการเคลื่อนที่หรือหรือหยุดนิ่งได้ แรงสามารถเปลี่ยนความเร็วของวัตถุได้ ทำให้วัตถุเกิดความเร่ง ถ้ามีแรงขนาดเท่ากันกระทำต่อวัตถุในทิศทางตรงกันข้าม อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและขนาดของวัตถุ แต่ไม่มีการเคลื่อนที่ของวัตถุเกิดขึ้น
4. แสง
แสง คือพลังงานรูปหนึ่งที่ไม่มีตัวตน แต่สามารถทำงานได้ แสงช่วยให้เรามองเห็นวัตถุต่าง ๆ แสงเปลี่ยนมาจากพลังงานรูปหนึ่งแล้วยังเปลี่ยนไปเป็นพลังงานรูปอื่นได้ ในหน่วยการเรียนรู้นี้ จะเรียนเกี่ยวกับการสะท้อนของแสง การหักเหของแสง การมองเห็นวัตถุและสีของวัตถุ และได้รู้จักกับทัศนูปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง
วิทยาศาสตร์ ม. 2 เทอม 2
5.กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก
5.1 ดิน
ดินเป็นวัตถุธรรมชาติที่เกิดจากการสลายตัวของหินและแร่ธาตุต่างๆ ผสมกับอินทรียวัตถุ ซึ่งปกคลุมผิวดินอยู่เป็นชั้นบางๆ ดินช่วยในการเจริญเติบโตและการทรงตัวของพืช ประกอบด้วยแร่ธาตุ ที่เป็นของแข็ง อินทรียวัตถุ น้ำ และอากาศ มีสัดส่วนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของดิน ในหน่วยนี้ยังได้เรียนเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากดินและการปรับปรุงคุณภาพดินอีกด้วย
5.2 หิน
หิน หมายถึง มวลของแข็งที่ประกอบขึ้นด้วยแร่ชนิดเดียวกันหรือหลายชนิดรวมตัวกันอยู่ตามธรรมชาติ แบ่งตามลักษณะการเกิดได้ 3 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่ หินอัคนี หินชั้นหรือหินตะกอน และหินแปร ในหน่วยการเรียนรู้นี้ จะได้เรียนรู้เรื่องหินและชนิดของหินอย่างละเอียด ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากหินด้วย
5.3 แร่และเชื้อเพลิง
แร่และเชื้อเพลิง คือสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มนุษย์ได้ศึกษาค้นคว้าและพัฒนาเกี่ยวกับแร่และเชื้อเพลิงต่างๆมาอย่างยาวนาน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ปิโตรเลียม แก๊สธรรมชาติ เป็นต้น
5.4 น้ำ
โลกของเรามีน้ำจำนวนมากมายมหาศาล น้ำคือทรัพยากรสำคัญสำหรับมนุษย์และทุกชีวิตบนโลกใบนี้ ทั้งในส่วนของการบริโภค อุปโภค แม้แต่ในร่างกายเราเองก็มีส่วนประกอบของน้ำ กว่า 70% เราจึงควรเรียนรู้และทำความเข้าใจที่จะอนุรักษ์ ทรัพยากรณ์น้ำ แหละน้ำ และเข้าใจในวัฏจักรของน้ำเพื่อความยั่งยืนต่อไป
5.5 โลก
หน่วยการเรียนรู้นี้จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับโลก โครงสร้างโลก การเปลี่ยนแปลงของเปลือก โดยโลกของเราแบ่งออกเป็น 3 ชั้นหลักๆ คือ แก่นโลก เนื้อโลก และเปลือกโลก
แก่นโลก : เป็นส่วนที่อยู่ชั้นในสุดของโลก แบ่งเป็นแก่นโลกชั้นนอก และแก่นโลกชั้นใน
เนื้อโลก : มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นแร่ซิลิเกต แบ่งออกได้เป็นเนื้อโลกชั้นล่างและเนื้อโลกชั้นบน และยังแบ่งออกเป็น เนื้อโลกชั้นบนตอนบน และเนื้อโลกชั้นบนตอนล่างอีกด้วย
ชั้นเปลือกโลก : เป็นชั้นที่อยู่นอกสุดที่เราอาศัยอยู่ โดยแบ่งออกเป็นเปลือกโลกมหาสมุทรและเปลือกโลกส่วนทวีป
6. ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
6.1 กระบวนการทางวิทยาศาสตร์
กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานของการค้นหาคำตอบของมนุษย์ที่ดีที่สุด หากมีปัญหา มีข้อสงสัย จะใช้กระบวนการนี้ ประกอบด้วย การสังเกต การระบุปัญหา การตั้งสมมติฐาน การทดลอง และการสรุปผล ในหน่วยการเรียนรู้นี้ จะได้ศึกษาเกี่ยวกับ ลักษณะของการตรวจสอบสมมติฐาน วิธีของการสำรวจและการตรวจสอบ กระบวนการสำรวจตรวจสอบเชิงปริมาณและคุณภาพ วิธีการรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
6.2 โครงงานวิทยาศาสตร์
โครงงานวิทยาศาสตร์ คือการศึกษาเพื่อพบข้อความรู้ใหม่ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหา และมีผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษา โครงงานวิทยาศาสตร์ มี 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทการทดลอง ประเภทการสำรวจรวบรวมข้อมูล ประเภทการสร้างสิ่งประดิษฐ์ และประเภทการสร้างทฤษฎีและหลักการ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ เนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ ม.2 สำหรับน้องๆ คิดว่าง่ายหรือยากครับ คอมเมนต์บอกกันมาได้เลย อย่างไรก็ตามถ้าเราหมั่นเรียนรู้ ถามครูอาจารย์ หรือทบทวนบทเรียนเป็นประจำ เชื่อว่าจะไม่ยากเกินความสามารถแน่นอนครับ และน้องๆคนไหนสนใจเรียนออนไลน์ผ่านวีดิโอของ Athome ก็ติดตามได้ด้านล่างนี้เลยนะครับ