ภาวาส ตันติวงศ์โกสีย์ หรือปันปัน นิสิตแพทย์จุฬาฯ ว่าที่คุณหมอคนนี้เป็นเจ้าของคะแนนรวมกว่า 83.65% คะแนน GAT 295/300 BMAT 17.6A PAT1 294/300 และคณิต 9 วิชาสามัญ 97/100 เห็นคะแนนว่าน่าทึ่งแล้ว เทคนิคและมุมมองความคิดจะน่าทึ่งขนาดไหนเรามาดูไปพร้อม ๆ กันเลย รับรองว่าได้ทั้งสาระและแรงบันดาลใจกลับไปแบบจัดเต็มแน่นอนค่า
จากคนไม่ชอบเลข มีจุดเปลี่ยนยังไงถึงเริ่มมาทำเลขได้
ตอนนี้ชอบเลขที่สุดแล้ว แต่เมื่อก่อนไม่ชอบเลขเลย เหมือนขึ้น ม.ปลาย มาแล้วมันมีกำลังใจในการทำ เวลาตอบได้รู้สึกว่าเหมือนเราเก่งขึ้นมาในอีกระดับนึง ทำเลขพี่แม็กได้ก็เหมือนเป็นกำลังใจให้ตั้งใจเรียนในห้อง
ตอนนั้นเหมือนทำโจทย์เยอะมากเลยใช่ไหม?
ช่วงท้าย ๆ ม.3 คือตอนนั้นแม่ทนไม่ไหวแล้ว เพราะว่าปันทำเลขไม่ได้เลยก็เลยเอาโจทย์พี่แม็กมา แล้วก็เอาโพสอิทมาปิดแล้วซีร็อกซ์ใหม่ ให้ทำใหม่ทั้งชุด ข้อไหนที่ยังทำไมได้ก็ปิดใหม่แล้วก็ซีร็อกซ์ใหม่ แล้วเอาชุดอื่นขึ้นมาวน แล้วทำอย่างนี้วนไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะเริ่มจำวิธีทำได้บ้าง ก็เลยมาเริ่มทำเลขได้ขึ้นมา
ม.ต้น เรียนไม่ค่อยเก่ง ทำไมอยู่ ๆ ม.ปลาย เก่งมาก?
เราเคยถามพี่ว่าทำไมต้องตั้งใจเรียน เขาก็เล่าให้ฟังว่ าถ้าเกรดเราดี มันจะไม่มีใครมายุ่งกับชีวิตเราได้ เพราะก็รับผิดชอบตัวเองได้แล้วไง ชีวิตที่เหลือก็ต้องเป็นของเราไหม อันนี้คือจุดเริ่มต้นว่าหนูต้องได้เกรด 4 แล้ว หนูว่า ม.4 มันคือจุดเริ่มต้น มันเหมือนชีวิตที่แยกจาก ม.ต้น เลยค่ะ เหมือนว่าเราเรียน ม.ต้น มาแย่แค่ไหนถ้าเราเริ่ม ม.4 ได้ดี คือเปลี่ยนเลยนะ ถ้าเราเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ จะกลายเป็นว่าเราเป็นเด็กที่เก่งขึ้นเลย
เห็นว่าอยากพิสูจน์ตัวเองเพราะชอบศิลปินเกาหลีด้วย
ตอนแรกเริ่มจากการติ่งเกาหลี เพราะเราอยากไปคอนเสิร์ตมาก ถ้าทำเกรดได้ดี เราจะขอได้ (หัวเราะ) เราก็เลยตั้งใจทำเกรดให้มันดี เหมือนผู้ใหญ่เขาก็ชอบดูถูกใช่ไหมว่าการเอาเวลาไปติ่ง มันทำให้การเรียนห่วย มันแย่ลง เราก็อยากพิสูจน์ให้เขารู้ว่าเราทำทั้งสองอย่างไปด้วยกันได้
เรามีทริคในการเรียนยังไงถึงได้เกรด 4 ทุกเทอม
ปันปัน: เราตั้งใจไปทีละเทอม ไม่ได้ตั้งใจจะเรียนนำหน้า แค่ทำเทอมตอนนี้ให้มันดีที่สุด
แล้วเลขล่ะ?
เราทำเฉพาะโจทย์ที่รู้สึกว่าทำแล้วพัฒนา ไม่ใช่สักแต่จะทำที่มันง่าย ทำแล้วไม่ได้อะไร ได้แต่หลอกตัวเองว่า เออ เราทำได้นะ จำนวนข้อที่ผ่านมา เหมือนพอทำไปสักพัก เรียนไปสักพักมันจะรู้ว่าข้อไหนยาก ข้อไหนฝึกแล้วได้ประโยชน์ก็ แต่ก่อนหน้าที่จะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องเข้าใจ Basic ก่อน
ห้องคิงเตรียมอุดมฯ แตกต่างจากห้องอื่นยังไงบ้าง?
ความพิเศษของห้องคิงอย่างแรกคือ ความกดดันแน่นอน พอเราเข้าไปปุ๊บเราจะรู้สึกว่าเพื่อนทุกคนเหมือนถูกคัดมาแล้วว่าเก่ง แล้วเราก็ต้องอยู่ในนั้นให้ได้ ถ้าสมมติว่าเราดร็อปแม้แต่นิดเดียวมันจะรู้สึกว่าเราเป็นท้าย ๆ ของห้อง แต่ไม่ใช่ว่าเพื่อนเห็นแก่ตัวนะ เพื่อนดีมาก ม.5 เป็นห้องที่ชอบที่สุดในเตรียมฯ เลย เพราะว่าเพื่อนช่วยกันทำสรุป ใครเก่งวิชาไหนก็ช่วยกันติว เหมือนเป็นสังคมที่ทุกคนให้วคามสำคัญกับการเรียนมาก ๆ ก็มีทำกิจกรรมอย่างอื่นนะ มีคนทำกิจกรรมอย่างอื่นเยอะแยะเลย แต่ว่าต้องเซฟเรื่องการเรียนไว้ด้วย
เริ่มเตรียมตัวสอบยังไงให้คะแนนปังขนาดนี้
คนส่วนใหญ่เขาก็ไปเรียนคอร์ส Entrance กันใช่ไหมรอบนึง หลังจากนั้นเหมือนต้องยอมรับกับตัวเองว่าเราทำอะไรได้ไม่ดี บางคนอาจจะหาไม่เจอ หรือว่าอาจจะรู้สึกว่าไม่ยอมรับนิดนึงว่าเราไม่เก่งเรื่องนี้ แล้วก็พยายามจะไม่แตะมัน แต่จริง ๆ เราต้องยอมรับให้ได้แล้วขุดมันขึ้นมาทำให้มันเป็นจุดแข็ง อย่างช่วงที่รู้สึกว่าอ่อนฟิสิกส์ ช่วงนั้นจะเทเวลาให้ฟิสิกส์หมดเลย แล้วผ่านไป 2 อาทิตย์จะรู้สึกฟิสิกส์ตัวเองเก่งขึ้นมาก ๆ เราก็ไปหาจุดอ่อนวิชาอื่นแล้วก็ทุ่มเวลาให้มัน ถ้าเรามัวแต่ไปเสริมจุดแข็งแล้วมันออกไม่ยากจะทำยังไงล่ะ
มีเคล็ดลับในวันสอบอะไรไหม?
รู้สึกว่าอย่าไปพลาดกับอะไรง่าย ๆ อย่างเช่น ลืมบัตรประชาชน อะไรแบบนั้นมันจะทำให้เราลนก่อนเข้าห้องสอบเราควรจะทำใจให้สบาย แล้วตอนอยู่ในห้องคิดแต่ว่าถ้าเราวอกแวกตอนนี้ อีก 1 ปีข้างหน้า เราซวยแน่ ๆ เดี๋ยวเราจะต้องไปเริ่มใหม่ ถ้าทำตอนนี้ให้ดีอีกไม่กี่ชั่วโมงเราจะสบาย
ทำไมถึงอยากเป็นหมอ?
เรามีพ่อเป็นหมอ ก็เลยเห็นว่าคุณพ่อทำอะไรมาโดยตลอด แล้วยิ่งคุณพ่อเป็นหมอเด็ก อยู่ดี ๆ ก็จะมีเพื่อนรอบตัวเดินมาบอกว่าเคยรักษากับคุณพ่อของปัน เขาก็บอกว่าคุณพ่อดีมาก คุณพ่อไม่คิดค่ารักษาอะไรอย่างนี้ คุณพ่อใจดี ก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้คนรอบตัวประทับใจได้
มองยังไงกับการฝึกข้อสอบเก่า?
ปันปัน: ข้อสอบเก่าก็เป็นอะไรที่ควรฝึก เพราะว่าเหมือนรุ่นพี่เขาก็ผ่าน ๆ ข้อสอบนี้มา บวกกับความกดดันกับเวลา ควรทำให้ครบอย่างแรก ถ้าจะหาเพิ่มก็เป็นโจทย์จากที่อื่นก็ได้ ไม่ต้องสนว่ามันจะออกแบบไหน อย่างที่ฟังมาทุกคนจะรู้สึกว่าข้อสอบเปลี่ยนแนว ถามจริง ๆ ว่าทำไมเราต้องสนใจแนว ถ้าสมมติว่าเราเข้าใจทุกอย่างและสามารถประยุกต์กับมันได้ ถึงแม้ข้อนี้มันจะไม่เคยออกสอบเลย เรารู้ไว้ไม่ดีกว่าเหรอ ไม่จำเป็นต้องสนใจว่ามันจะออกแบบไหน แค่เราทำเป็นให้หมด อย่างที่มันออกปีนี้ มันก็เจอด้วยกันทั้งหมด ทำไมบางคนทำได้แล้วทำไมบางคนออกมาบอกว่าข้อสอบมันเปลี่ยนก็เลยทำไม่ได้
มีกลยุทธ์การเรียนพิเศษ ม.ปลายที่อยากแชร์ไหม?
ปันปัน: เราเรียนไปตามเทอมมากกว่าที่จะไปเรียนนำคนอื่นเขา เพราะถ้าเก็บตามเทอมให้มันดีก็ได้ บวกกับเกรดที่โรงเรียน หนูมีความเชื่อว่าถ้าสมมติว่าเราทำตามเทอมให้มันดีพอตอน ม.6 มันจะไม่เหนื่อยมาก เพราะว่ามันจะสามารถขุดทุกอย่างขึ้นมาได้ มันจะไม่เหมือนการขึ้น ม.6 มาแล้วความรู้ ม.4 เป็น 0 อะไรแบบนั้น ต้องไปนั่งขุด ม.4 ใหม่ทั้งหมด แต่เราเคยทำทุกอย่างทุกวิชาให้ดีมาแล้วก็ เลยคิดว่ามันช่วยร่นเวลาในการอ่านหนังสือสอบ Entrance ด้วย
เรียนพิเศษวิชาอะไรบ้าง?
ถ้าเรียนตามเทอมก็มีภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เลข
โจทย์เลขพี่แม็กเป็นยังไงบ้าง?
มันหลากหลาย คือโจทย์พี่แม็กยาก แล้วบางเรื่องมันก็ผสมหลายเรื่องเข้าด้วยกัน อย่างสมมติว่าภาคตัดกรวยในข้อนี้อาจจะไม่ได้มีแค่นั้น อาจจะมีเรื่องอื่น สูตรอื่นมารวมกัน ตอนนี้พอเรียนคอร์สพี่แม็กรู้สึกว่าเป้าหมายในชีวิตตอนทำเลข มันไม่ใช่ว่าไปทำข้อสอบเก่าแล้วทำได้ เป้าหมายของมันก็คือทำโจทย์พี่แม็กได้ แล้วถึงจะรู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จกับเลขแล้ว (หัวเราะ) โจทย์คพี่แม็กคือ ถ้าทำได้ก็ทำข้อสอบ Entrance ได้เหมือนกัน ก็เลยไม่เคยกังวลกับข้อสอบเก่าเลย ไม่ได้กังวลว่าจะทำข้อสอบเก่าได้ไหม
แล้วชีวะเตรียมตัวยังไง?
เนื้อหาเรียนอาจารย์เอกฤทธิ์ สอนเหมือนเล่าเรื่อง connect ทุกอย่างเข้าด้วยกัน ไม่เคยคิดเหมือนกันว่าทุกบทมันจะต่อเนื่องกัน คือเขาเล่าเรื่องชีวะเป็นเรื่องใหญ่ ๆ เรื่องเดียว เขาเริ่มที่เรื่องแรก เรื่องเซลล์อะไรอย่างนี้เขาก็จะต่อไปเรื่อย ๆ เหมาะกับคนที่ชอบจด ชอบวาดรูป หนูก็จดออกมาได้ 500 หน้า จดคอร์ส Entrance 500 หน้า จริง ๆ หนูเอามาด้วย (เปิดให้ดู) หนังสือเล่มนี้จะเป็นหนังสือที่เราเอากลับมาดูตลอดประกอบกับตอนทำโจทย์ว่าทำโจทย์ผิด
เราเป็นคนชอบจดอยู่แล้วไหม?
เป็นคนชอบจดมาก แล้วก็ชอบวาดรูป มีความสุขกับการทำให้มันสวย จัดได้ pause ได้ อย่างไปเรียนสดหนูจดไม่ทันนะ เขาวาดรูปสวยมาก อยู่ดี ๆ เขาเนรมิตมาทั้งรูปเลย เราคือคนที่ใช้ปากกาแล้วก็ใช้ยางลบ แต่ว่าเขาไม่เคยลบอะไรเลย ในนี้มีทุกคำพูดนะ มีมากกว่าบนกระดาน มีทุกคำพูดที่เขาพูดออกมา เขาวาดซี่โครง หนูแบบ…ตายแล้ว อยู่ดี ๆ เขาก็เนรมิตซี่โครงมา ทำยังไง (หัวเราะ)
มองวิชาชีวะยังไงบ้าง?
จริง ๆ ไม่ได้คาดหวังกับวิชาชีวะเลย เป็นวิชาที่กว้าง เข้าใจนะเรียนแล้วก็สามารถ connect ได้ แต่ด้วยความที่ไม่ได้จำได้ขนาดนั้น ก็เลยรู้สึกว่าอาจจะไม่ได้ดีมาก แต่ว่าข้อสอบปีนี้เป็นข้อสอบวิเคราะห์ ไม่ได้ใช้ความจำเลย ไม่เหมือนปีก่อน ๆ ก็เลยดีกว่าที่คิดไว้ ชีวะเน้นทำโจทย์มากกว่า ถ้ามัวแต่อ่านก็ทำไม่ได้หรอก ก็เลยหันมาทำโจทย์ดีกว่า จับจุดผิดจากโจทย์เอา เท่าที่เห็นมาหลายปีโจทย์มันก็จะซ้ำ ๆ ถ้าเคยออกตัวนี้ก็ไปออกตัวตรงข้าม ก็เลยจับจากโจทย์มากกว่า
แบบนี้วิชาที่เนื้อหาเยอะ ๆ เราควรบาลานซ์การอ่านกับทำโจทย์ยังไง?
ถ้าถามว่าเวลาอ่านไปจำได้ทุกตัวในหนังสือไหม บอกได้เลยไม่มีทาง จำไม่ได้หรอก ให้เราลองกาไปก่อน แล้วไปอ่านเฉลยข้างหลังว่าเข้าใจรึเปล่า มัน connect กับจุดไหน ทำโจทย์มันจะทำให้จับจุดถูก บทมีเท่านี้แต่ที่ออกมีเล็กกว่านั้น ถ้าเรามัวไปจำอย่างอื่นนอกกรอบมันไม่ได้ใช้ จะอ่านให้จบอย่างนั้นมันก็มี แต่มันสำหรับคนที่มีเวลา อยากจะเตรียมตั้งแต่ต้น มันก็มีแต่คือส่วนน้อย
ฟิสิกส์ อ.ธวัชชัยยากแบบที่เค้ารีวิวกันไหม?
จริง ๆ ม.4 เรียนไม่รู้เรื่องเลย บอกแม่ทุกวันว่าเห็นกระดาษนี่มันทนไม่ไหวแล้วนะ ตอนนั้นมีพี่อยู่ ม.6 พี่ชายบอกว่าเขาจะพูดในคอร์ส Entrance ว่าสุดท้ายแล้วทุกคนจะต้องกลับไปง้อเขาถึง ม.4 จะพูดว่าไม่ชอบเขามากแค่ไหน ซึ่งมันก็จริงนะ เพราะว่าหนูเรียน ม.4 เทอม 1 แล้วหนูก็เลิกเรียน แล้วหนูก็ไปเรียนอีกทีตอน Entrance ก็รู้สึกว่าตอนนั้นโตพอที่จะเข้าใจสิ่งที่เขาอธิบายลึก ๆ ได้ มันจะมีคนที่เรียนแล้วก็ไม่เข้าใจไปเลย แล้วมันก็จะมีคนที่เรียนแล้วรู้สึกว่าบรรลุฟิสิกส์ไปเลยก็มี
เรียนสังคมกับครูป๊อปเป็นยังไงบ้าง?
เป็นคนไม่เก่งสังคม อย่างที่บอกไปตอน ม.ต้น ว่าทิ้งตลอดเลยนะที่โรงเรียนน่ะ สังคมเป็นวิชาที่ถ้าออกไม่ตรงข้อสอบเก่าก็คาบเส้นมาตลอด แล้วก็ไปนั่งอัดตอนไฟนอลให้มันได้เกรด 4 สังคมเป็นวิชาที่เราไม่ค่อยเปิดรับเพราะเนื้อเรื่องมันเยอะมาก แล้วไม่ใช่เรื่องที่หนูอยากรู้ด้วย (ขำ) จริง ๆ แล้วมันจะมี 5 สาระใช่ไหม ศาสนา หน้าที่พลเมือง เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เขาสรุปแต่ละเรื่องให้มันอยู่ได้ในไม่กี่ชั่วโมง แล้วเขาก็สอนให้จำในสิ่งที่เขารู้สึกว่ามันสำคัญ อย่างเช่น ทศพิธราชธรรมมี 10 ข้อใช่ไหม เขาจะบอกเลยว่ามีข้อนึงที่ออกข้อสอบบ่อย เขาจะบอกว่าอีก 9 ข้อช่างมันเถอะ เราตอบไม่ได้ใคร ๆ ก็ตอบไม่ได้ทั้งนั้นแหละ ยกเว้นคนที่เก่งมากอะไรอย่างนี้ อันนี้คืออันที่หนูชอบนะสำหรับคนที่ไม่เก่งสังคม รู้สึกว่าแค่นี้พอแล้ว ไม่ใช่วิชาฉุดก็พอแล้ว
ที่ผ่านมาเรียนกับ AT HOME รู้สึกยังไงบ้าง?
ดีค่ะ มันดีเพราะว่ามันเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ อย่างเที่ยงคืนตีหนึ่ง อยู่ดี ๆ เกิดอยากเรียนก็หยิบมาเรียนได้ ไม่จำเป็นจะต้องตามเวลาสถาบันเปิด – ปิด
เป็นยังไงกันบ้างคะ มุมมองของการเรียน การเตรียมตัวสอบ และการสอบในสนามจริงที่ปันปันเอามาแบ่งปันใน EP นี้ น่าทึ่งมาก ๆ เลยใช่ไหมล่ะคะ ตอนที่ดูคิดว่าคงมีหลายคนร้องในใจว่าปันปันเท่สุด ๆ อยู่แน่ ๆ เราได้เห็นแล้วว่านอกจากความตั้งใจ ความมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย มุมมองและความรู้สึกที่เรามีต่อวิชานั้น ๆ ก็สำคัญเช่นกัน ถ้าเรามีความรู้สึกที่ดีในการเรียนวิชานั้น เราก็จะมีกำลังใจในการเรียนมากขึ้น พี่ ๆ AT HOME ขอเป็นกำลังใจให้น้องทุกคนในการเรียนและการสอบนะคะ