Search
Close this search box.

เผยเคล็ดลับ! ที่ 1 ทุนคิงปี 64 ฉบับพี่น้ำอุ่น | AT HOME

Home > Uncategorized > เผยเคล็ดลับ! ที่ 1 ทุนคิงปี 64 ฉบับพี่น้ำอุ่น | AT HOME
เขียนโดย :
โพสต์เมื่อ :

อ่านสรุปตรงนี้ได้เลย

ภูมิปัญญา ชัยศรีสวัสดิ์สุข หรือน้ำอุ่น นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงปี 64 เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก และรางวัลพิเศษ The 3D Reconstruction Award สำหรับภาคปฏิบัติคะแนนสูงสุดในพาร์ทแรก พาร์ทสัตววิทยา วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับน้องน้ำอุ่นไปพร้อม ๆ กัน ถ้าใครอยากรู้เคล็ดลับการสอบทุนคิง และวิธีเรียนวิชาที่ไม่ชอบอย่างไรให้ได้ผลดี เทปนี้มีเฉลย!

คำถามแรกเลย ทำไมน้ำอุ่นถึงเลือกสอบทุนคิง?

ตอนแรกผมจะสอบหมอ แต่ว่าผมไม่ได้อยากจะเป็นหมอครับ ประเทศเราเด็กเก่งส่วนใหญ่จะเรียนหมอกัน แต่ผมมองว่าในด้านอื่น ๆ ก็ยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถอยู่ แล้วในเมื่อเราถนัดวิทยาศาสตร์ เราก็อยากมุ่งไปที่วิทยาศาสตร์ก็เลยลองหาทุน สรุปเราก็เลือกที่จะลองสอบทุนเล่าเรียนหลวงครับ

เริ่มเตรียมตัวสอบทุนคิงตั้งแต่เมื่อไหร่?

ความจริงผมเตรียมตัวค่อนข้างช้ามาก คือช่วงกำลังจะขึ้น ม.6 พอดี ตอนปิดเทอมผมก็ลองถามพี่แม็ก (อ.ชยธร) ว่าผมจะสอบทุนเล่าเรียนหลวงดีไหม ยังเตรียมตัวทันไหม พี่แม็กก็บอกว่าทันครับ เขาก็แนะนำครูมาให้

แล้วเราเตรียมตัวสอบทุนคิงยังไงบ้าง?

ผมต้องบอกก่อนว่าผมมีต้นทุนอยู่แล้ว คือเนื้อหา ม.ปลาย ส่วนใหญ่ผมเรียนจบแล้ว เหลือต้องเก็บวิทย์คณิตให้มากที่สุดก่อนขึ้น ม.6 เพราะช่วง ม.6 ที่เขาว่ากันว่าเป็นตัวตัดสินกันจริง ๆ เมื่อก่อนนี้คือ วิชาไทยกับสังคม ส่วนภาษาอังกฤษของทุนเล่าเรียนหลวงจะไม่ค่อยยากเมื่อเทียบกับ 9 วิชาสามัญ ซึ่งไทยสังคมเขานิยมเรียนพิเศษกับฝึกทำโจทย์ในเว็บไซต์ของทุนเล่าเรียนหลวงที่เขามีคลังข้อสอบของปีก่อน ๆ อยู่ ไปลองดูกันได้ ค่อนข้างยาก ข้อละ 36 นาที ให้เขียน 1-2 หน้ากระดาษประมาณนี้ครับ

ช่วงที่เตรียมสอบทุนคิง เรายังเตรียมสอบเอ็นทรานส์ด้วยไหม?

ก็ยังเตรียมไปด้วยอยู่บ้างครับ ส่วนหนึ่งมันก็ได้ประโยชน์ด้วย มันอาจจะไม่ได้ประโยชน์โดยตรงขนาดนั้นแต่ความรู้จากการสอบ 9 วิชาสามัญ มันก็เอามาใช้สอบได้อยู่ดี

ได้คะแนน กสพท. เท่าไหร่?

ผมได้ 85 จุดอะไรสักอย่างนี่แหละครับ

ถ้าอยากสอบทุนคิง คิดว่าควรเตรียมตัวยังไงดีที่สุด?

น้อง ๆ ที่อยากจะสอบทุนเล่าเรียนหลวง ผมว่าการเตรียมตัวก็ควรจะเรียนเนื้อหาวิชาการมาตั้งแต่ ม.4 ก็คืออาจจะเตรียมตัวเหมือนเพื่อนก็ได้ อย่าง 9 วิชาสามัญ เพราะหลาย ๆ คนก็เรียนเนื้อหาโจทย์ตั้งแต่ ม.5 เหมือนกัน แต่ว่า ม.6 เราอาจจะหันไปฝึกเนื้อหา ฝึกโจทย์ ฝึกเขียนเรียงความของทุนคิงมากกว่า

จริง ๆ แล้วทุนคิงสอบเนื้อหาอะไรบ้าง?

ถ้าถามผม ผมก็จะบอกว่าข้อสอบทุนคิงแต่ละวิชาบางทีออกเกินเนื้อหา ม.ปลาย อาจจะไม่ใช่เลขอย่างเดียวที่ออกเกินเนื้อหา ม.ปลาย ซึ่งบางปีก็ออกเกิน AM-GM (ค่าเฉลี่ยเลขคณิตและค่าเฉลี่ยเรขาคณิต) ปีที่ผ่านมารู้สึกว่าเลขไม่เกินเนื้อหา ม.ปลาย แต่มีวิทยาศาสตร์กับฟิสิกส์ที่ออกเรื่องการหมุน ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ตัดออกไปแล้ว

น้ำอุ่นเตรียมตัวสอบทุนคิงวิชาไทย-สังคมยังไง?

ความจริงถ้าให้เทียบ ผมว่าสังคมค่อนข้างยากกว่ามาก เพราะมันออกทั้งหมด 5 ข้อ มีเวลาสอบ 3 ชั่วโมง ก็คือ 180 นาที ข้อละ 36 นาที แล้วทีนี้เขาให้กระดาษว่างเปล่ามา เราจะต้องเขียนตอบเป็นเชิงเรียงความหรือบทความ ส่วนคำถามก็จะค่อนข้างกว้างมาก เพราะหยิบมาจากแต่ละสาระที่ต่างกัน ซึ่งอาจจะถามเกี่ยวกับอะไรก็ได้ ตั้งแต่การเมืองของประเทศไทยไปจนถึงประวัติศาสตร์ยุคกลาง เราต้องมีความรู้พื้นฐานอยู่ด้วย อาจจะไม่ต้องจำทุกรายละเอียดหรือจำทุกเรื่องได้ แต่เราต้องมีความรู้พื้นฐานและความรู้รอบตัวทั่วไปที่สามารถนำมาอภิปรายได้มากพอครับ

แล้วเราใช้เวลาในการเตรียมตัวสอบนานไหม?

ผมต้องบอกก่อนว่าผมมีพื้นฐานอยู่แล้ว และค่อนข้างมีทักษะการเขียนที่ดีอยู่แล้วด้วย ผมใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนถึงทำได้ดีขึ้น ต้องฝึกอยู่เรื่อย ๆ ด้วยครับ

ไทย-สังคมทุนคิงยังเป็นตัวตัดอยู่ไหม?

ปีนี้ที่ประหลาดใจคือ เลข รู้สึกว่ายากขึ้น ส่วนวิทยาศาสตร์ผมก็มีทำไม่ทันด้วย แต่คิดว่าไทยสังคมอาจเป็นตัวตัดน้อยลงในปีนี้ อาจกลายเป็นเลขหรือวิทย์แทน ปีหน้าก็อาจจะเปลี่ยน ต้องเตรียมไทยและสังคมไปด้วยอยู่ดีนะครับ ถ้าจะมุ่งไปทุนคิง ส่วนตัวผมไม่แนะนำให้เตรียมวิชาวิทยาศาสตร์มากเกินไป เพราะฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ถ้าสอบ 9 วิชาสามัญ มันแยกสอบทั้ง 3 วิชา แต่ของทุนคิงมันสอบรวมกันเป็นวิชาเดียวคือวิทยาศาสตร์ ถ้าไม่ทันจริง ๆ ผมว่าอาจจะไม่ต้องทุ่มขนาดนั้น

น้ำอุ่นคิดว่าอัตราการแข่งขันของการสอบทุนคิงสูงไหม?

อัตราการแข่งขันอาจจะไม่สูงมาก แต่คนที่เข้ามาแข่งแต่ละคนส่วนใหญ่จะเป็นระดับ TOP ไม่ TOP ของโรงเรียนก็ TOP ของประเทศอะไรประมาณนั้นครับ

ตอนสอบรู้สึกยังไงบ้าง ตื่นเต้นไหม?

สอบข้อเขียนค่อนข้างจะเลื่อนไปช้ามาก ปกติจะสอบช่วงพฤศจิกายน แต่ปีนี้เลื่อนไปอีก รู้สึกตื่นเต้นอยู่แล้วเนื่องจากเป็นสนามสอบที่ค่อนข้างยาก แล้วก็ขึ้นชื่อด้วย ส่วนหนึ่งเราก็เตรียมตัวมาค่อนข้างมากก็มีความหวังเหมือนกันก็เลยตื่นเต้นตามสภาพครับ ตอนสอบเสร็จผมรู้สึกว่าไม่น่าจะรอด (หัวเราะ) อีกส่วนผมก็ทำวิทยาศาสตร์ไม่ทันด้วย เลขผมก็ทำไม่ทันไป 1 ข้อเหมือนกัน

หลังจากผ่านข้อเขียนแล้วยังต้องสอบสัมภาษณ์ด้วย?

พาร์ทสัมภาษณ์ผมก็เตรียมตัวเหมือนกัน ก็คือถามจากรุ่นพี่เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพี่ที่ได้ทุนเล่าเรียนหลวงมาก่อนว่า สอบอะไรบ้าง ตอนสัมภาษณ์มีกิจกรรมอะไร แล้วเขาจะถามอะไรบ้าง รุ่นพี่ก็แนะนำมาค่อนข้างมาก ก็ถือว่าได้ประโยชน์มาก ต้องขอบคุณพี่เขาด้วย 

ปีที่ผ่านมาปกติต้องเข้าค่ายด้วย แต่ว่าปีนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิดเลยไป-กลับแบบวันต่อวันแทน จะเรียกว่าเข้าค่ายก็ได้ ให้อยู่ด้วยกันแล้วมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้ทำ ทั้ง Group discussion, Group presentation, ฟังวิทยากร, ดูวิดีทัศน์, เขียน Essay, เรียงความ แล้วก็มี Impromptu Speech และสัมภาษณ์วันสุดท้าย

การสอบสัมภาษณ์วัดอะไรบ้าง?

ส่วนใหญ่เขาก็จะดูเป็น Performance ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ การให้ความร่วมมือ แล้วก็วัดความสามารถในการใช้ภาษาของเรา บางทีเขาก็จะวัดการใช้ภาษาอังกฤษด้วยเพราะจำเป็นในการไปเรียนต่อต่างประเทศ มีวัด Critical Thinking ด้วยเพราะอย่าลืมว่ามีเรียงความ แล้วก็มีให้ Discuss กันเป็นกลุ่ม แต่ปีหน้าก็เป็นไปได้ว่าเขาอาจจะเปลี่ยน

ปีนี้ปรับเกณฑ์ใหม่เอาแต่คะแนนสัมภาษณ์เรารู้สึกยังไง?

ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่ ผมคิดว่ายังไงก็ควรจะตัดสินจากคะแนนสอบด้วย เพราะว่าทุนเล่าเรียนหลวงก็เป็นทุนที่ต้องใช้ความสามารถในการเข้ามา ถึงทุกคนที่ผ่านเข้าไปจะมีความสามารถใกล้เคียงกัน แต่ผมว่ายังไงก็ควรจะใช้คะแนนด้วย ปีก่อน ๆ ก็ใช้ แต่ปีนี้เปลี่ยนใหม่เป็นคะแนนสัมภาษณ์อย่างเดียว ตอนแรกมี 8 คน แต่มี 1 คนไม่เอาก็เลยเหลือ 7 คน แล้วก็คัด 5 คน ความจริงโอกาสก็ค่อนข้างมากอยู่ แต่มันก็ลุ้นอยู่ดีเพราะทุกคนก็มีความสามารถพอ ๆ กัน ยังไงออก 2 คนก็ถือว่าเยอะ

น้ำอุ่นมองว่าการเรียนที่ดีที่สุดคือแบบไหน?

บางคนอาจใช้วิธีฟัง Podcast อัดเสียงไว้แล้วมาฟัง หรืออัดเสียงตัวเองผมก็เคยเห็น ส่วนผมจะอ่านหนังสือเป็นส่วนใหญ่ อีกเทคนิคที่ช่วยให้เราจำหรือเรียนรู้ได้ดีที่สุดก็คือ การสอนเพื่อน นอกจากจะทำให้เพื่อนได้ความรู้แล้ว มันยังทำให้เราได้ทบทวนความรู้ตัวเองอีกด้วยครับ

ระหว่าง ‘เรียนพิเศษ’ กับ ‘ฝึกโจทย์เอง’ เราแบ่งสัดส่วนยังไง?

ผมไม่แน่ใจว่าโรงเรียนอื่นเป็นยังไง แต่เตรียมอุดมฯ โจทย์เลขค่อนข้างยาก เมื่อก่อนมันมีหนังสือชื่อเล่มขาว (หนังสือโจทย์เลขที่ทำโดยโรงเรียนเตรียมอุดม) ผมก็ฝึกทำ แต่การจัดเวลาของผมอาจจะไม่เหมือนคนอื่น ผมอาจจะใช้เวลาเรียนพิเศษมากกว่าสัก 80/20 เวลาเรียนพิเศษก็คือทำไปเรื่อย ๆ มันก็เลยอาจจะไม่ต้องทุ่มเวลากับเลขมากขนาดนั้น เลขมันต้องใช้ความเข้าใจมากกว่าที่จะเปิดอ่านจากหนังสือที่มีโจทย์มีเฉลยแค่นี้ แน่นอนว่าเรียนพิเศษก็จะได้เจอโจทย์เลขที่เวียนไปเรื่อย ๆ แล้วมันใหม่กว่า

เห็นว่าตอนแรกไม่ชอบวิชาเลขเลย ทำไมล่ะ?

เมื่อก่อนตอน ม.ต้น ผมไม่ค่อยชอบเลขเลย ตั้งแต่เด็ก ๆ ผมสนใจวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะชีวะ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่จับต้องได้และมีความงดงามในตัวของมันที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาและมีความหลากหลายทางชีวภาพของมันทั่วโลก ค่อนข้างจับต้องได้มากกว่าวิชาฟิสิกส์ หรือเคมี หรือมากกว่าตัวเลขที่เป็นรูป เป็นตัวอักษร

แล้วอยู่ ๆ ทำไมเปลี่ยนมาชอบวิชาเลขได้?

จริง ๆ ยิ่งเรียนชีววิทยามันยิ่งใช้เลขมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผมเห็นความสำคัญของเลขด้วย ตอนทำโจทย์ ม.ต้น ของพี่แม็กเรารู้สึกสนุก มันก็มีกำลังใจอยากทำต่อมากขึ้น ทำให้ชอบเลขมากขึ้นด้วย

เรียนเลขกับพี่แม็กเป็นยังไงบ้าง เล่าให้เพื่อน ๆ ฟังหน่อย

พี่แม็กไม่ดุนะ ถ้าเป็นเด็กดี (หัวเราะ) วิธีเรียนพี่แม็กของผมคือ ทำโจทย์ไปก่อนเรื่อย ๆ ทำไป ๆ ถ้าพี่แม็กเฉลยในรูปแบบที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนผมก็จะจดไว้บ้าง ส่วนตัวผมชอบโจทย์ของพี่แม็กเพราะโจทย์สวย แนะนำว่าถ้าเรียนเลข ไม่ว่าเขาจะเฉลยให้เราดู หรือปล่อยให้ทำก่อนก็ควรจะทำไว้ก่อน เพราะว่าเลขคือทักษะการคิด ถ้าเราได้ฝึก ได้คิด จะทำให้เราทำข้อสอบได้มากขึ้นกว่าการฟังเฉลยอย่างเดียว

เรียนกับพี่แม็กคอร์สไหนบ้าง?

เรียนเลขพี่แม็กตั้งแต่ ม.1-3 ส่วนใหญ่จะเป็นพวกคอร์สตะลุยโจทย์ พอขึ้น ม.ปลาย ผมเข้าเตรียมอุดมฯ ก็เรียนคอร์สเลขยาก (ม.4 เทอม 1 – ม.5 เทอม 2) คอร์ส กสพท. ตะลุยโจทย์ รวมแล้วน่าจะเกิน 10 คอร์สครับ

เห็นว่าชอบชีวะ แต่ก็ทำเลขได้ดี เทคนิคของน้ำอุ่นคืออะไร?

คนมักจะบอกว่าเด็กชีวะเกลียดเลข มันอาจจะกลับมาที่เดิมว่า สุดท้ายแล้วผมทำเลขแล้วรู้สึกสนุก ผมก็เลยอยากทำมันต่อไปเรื่อย ๆ พอทำโจทย์ไปเยอะ ๆ มันก็ได้ผลกับตัวเอง ไม่ต้องทำเลขแล้วรู้สึกทรมาน

ตอน ม.ปลาย มีเทคนิคเรียนวิทยาศาสตร์ยังไง?

ฟิสิกส์ผมเรียนอาจารย์ปิยพงษ์กับอาจารย์ธวัชชัย 2 คน เคมีผมเรียนพี่แม็กเคมี ส่วนชีวะผมไม่เรียนครับ เป็นเด็กชีวะอยู่แล้ว ชีวะผมไม่ได้เรียนเลยแต่มันเป็นวิชาที่ผมชอบ ผมก็จะอ่านหนังสือเองเป็นส่วนใหญ่

ช่วงนี้น้องหลาย ๆ คนคงกำลังเตรียมตัวสอบอยู่ อยากฝากอะไรถึงน้อง ๆ บ้าง?

ก็สำหรับใครที่เริ่มตอน ม.6 ถ้ามีพื้นฐานมาดี ผมมั่นใจว่ามีโอกาสแน่นอน ส่วนใหญ่ในการเรียนเนื้อหาวิชาการ ผมเห็นหลายคนก็มีท้อแท้ หรือเหนื่อย อาจจะเป็นเพราะว่าผมเป็นคนที่ชอบการเรียนอยู่แล้ว ก็เลยทำให้ผมเรียนแล้วรู้สึกสนุก ผมคิดว่าถ้าพ่อแม่จะปลูกฝังลูกก็ควรทำส่วนนี้ให้ได้  ที่สำคัญอีกอย่างคือ กำลังใจ สามารถช่วยให้เราบรรลุเป้าหมาย ทำให้เราทำต่อไปได้ ถึงผมจะไม่เชื่อมั่นในไสยศาสตร์ แต่ผมก็มีสิ่งที่ยึดมั่นจิตใจเหมือนกัน ผมเชื่อว่าถ้าเรามีกำลังใจในการสอบ เราจะไม่รู้สึกว่าข้อสอบยากจัง เราทำไม่ได้ ถ้าเรามีที่ยึดมั่นก็จะทำให้รู้สึกว่า โอเค เราต้องผ่านมันไปให้ได้

บทความที่เกี่ยวข้อง
สรุปเนื้อหาตรรกศาสตร์ ม.4 
โพสต์เมื่อ :
รู้ก่อน เก่งก่อน สังคมศึกษา ม. 1 ต้องเรียนอะไร
โพสต์เมื่อ :
ติวเข้ม ข้อสอบ ฟิสิกส์ ม 4 ออกอะไรบ้าง
โพสต์เมื่อ :
พิชิตคะแนนฟิสิกส์แบบแม่นๆด้วย สูตรฟิสิกส์ ม 4
โพสต์เมื่อ :
สรุปย่อ “จำนวนจริง” พร้อมสูตรทั้งหมด ครบถ้วน เตรียมพร้อมสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบ...
โพสต์เมื่อ :
สรุปเรื่อง พหุนาม เอกนาม ม.1 พร้อมแบบฝึกหัดและเฉลย จัดเต็มพร้อมสอบ เกรดดีขึ้น...
โพสต์เมื่อ :